ไอทีดี ระดมสมอง ชงข้อเสนอรัฐ อัปเกรด 4 อุตสาหกรรม ยกเครื่องเศรษฐกิจประเทศ
11-29 HaiPress
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ไอทีดี) ชงข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล อัปเกรด 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร การแพทย์ และเศรษฐกิจดิจิทัล ยกเครื่องเศรษฐกิจของประเทศ
นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เปิดเผยถึงผลการศึกษาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มองไปข้างหน้าเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสในอนาคต (Future-Proof Policy Recommendations) ภายใต้การศึกษาอบรมหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา รุ่นที่ 1 โดยระดมความคิดเห็นของภาครัฐและภาคเอกชนที่มาเข้าร่วมหลักสูตร โดยปีนี้ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ ท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร การแพทย์ และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างงานและเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของกลุ่มที่นำเสนอด้านการท่องเที่ยว ได้ข้อสรุปว่า จะผลักดันการท่องเที่ยวทั่วไทย และยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเห็นว่าการท่องเที่ยวของไทย มีการเติบโตต่อเนื่อง จาก 15 ล้านคนในปี 2553 เพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี 2562 มีส่วนแบ่ง 20% ของ GDP แต่พอเกิดโควิด-19 ก็จะชะลอตัวลง และเริ่มฟื้นตัวในปี 2566 เติบโตกว่า 30% แต่ยังไม่กลับไปถึงช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อหัว ลดลง 15% จากปี 2560 และเมื่อดูจำนวนนักท่องเที่ยว พบว่า ส่วนใหญ่เป็นจีนและเอเชีย 72% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และเริ่มพบว่า นักท่องเที่ยวจากจีน เริ่มลดลง ถือเป็นสัญญาณความท้าทายที่ไทยต้องเผชิญ
ส่วนในภาคการท่องเที่ยว มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มความสำคัญกับคุณภาพนักท่องเที่ยวมากกว่าจำนวน พัฒนาเมืองสำคัญเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ เชื่อมโยงท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหาร การคมนาคม และการแพทย์ และเชื่อมโยง Soft Power กับการท่องเที่ยว เช่น อาหาร ศิลปะ และเทศกาล รวมทั้งใช้เทคโนโลยีและข้อมูลที่ทันสมัยผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชัน SABUY-SABUY เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยวจากทุกหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
สำหรับภาคการเกษตร ผลการศึกษามองในเรื่อง การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรไทยสู่การเป็นครัวของโลกและห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืน โดยเห็นว่าภาคเกษตรเป็นพื้นฐานของสังคมและเศรษฐกิจ มีแรงงานมากกว่า 19 ล้านคน 9.5 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่เกษตรกรรม 44% ของประเทศ ปัจจุบันภาคเกษตรมีสัดส่วน 8.8% ใน GDP เติบโตเฉลี่ยปีละ 1.9% ได้มีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างภาครัฐและนโยบายการเกษตรเพื่ออนาคต โดยรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมและอาหาร เช่น หน่วยงานด้านการตลาด การวิจัยนวัตกรรม และการแปรรูปสินค้าเกษตร มาอยู่ภายใต้สังกัดเดียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรอย่างครบวงจร และการพัฒนาระบบ Super Smart Agri Map ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลจากการคาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการติดตามราคาสินค้าเกษตรแบบเรียลไทม์ การให้คำแนะนำในการผลิตสินค้าเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการ เช่น โปรตีนทางเลือก หรืออาหารที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์ มีเป้าหมายการพัฒนาไทยสู่ศูนย์กลางธุรกิจผ่าตัดเสริมความงามระดับโลก ซึ่งไทยมีจุดแข็งจากด้านการท่องเที่ยว และบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน จึงเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และความงามจากทั่วโลกได้ โดยเสนอผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงาน Thailand Aesthetic Surgery Agency (TASA) ที่จะทำหน้าที่ออกใบอนุญาตแก่แพทย์ต่างชาติ การควบคุมมาตรฐาน ระบบการจัดการข้อร้องเรียน การจัดตั้งกองทุนพัฒนาแพทย์เชิงรุก เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในด้านต่าง ๆ เพื่อช่วยให้แพทย์และศัลยแพทย์ในไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การใช้ AI,หุ่นยนต์,และเทคโนโลยีการแพทย์ล้ำสมัย และการผ่อนปรนเรื่องการนำเข้าแพทย์ต่างชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง การจัดทำแคมเปญผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผ่าตัดเสริมความงามระดับโลก เพื่อสร้างการรับรู้และดึงดูดคนเข้ามาใช้บริการ รวมไปถึงการผลักดันการส่งออกเครื่องมือทางการแพทย์ที่ผลิตในไทย
ขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัล ผลการศึกษามองในเรื่องเป้าหมายการเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยเทคโนโลยี Generative AI เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน เพราะเห็นว่า SMEs มีสัดส่วนถึง 99.5% ของธุรกิจทั้งหมดในไทย จ้างงาน 12.8 ล้านคน คิดเป็น 71.8% ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 35.2% ของ GDP แต่พบว่า SMEs มีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ได้อย่างเต็มที่ จึงมีข้อเสนอแนะให้พัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลให้กับ SMEs ทั้งการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แรงงาน การสนับสนุนทางการเงิน การใช้โซลูชัน IT ที่เหมาะสม