ค่าเช่าบ้านวัยเกษียณพุ่งปรี๊ด ของหลวง 10,000-20,000 เอกชนทะยาน 50,000
12-05 HaiPress
เปิดค่าเช่าบ้านวัยเกษียณ จ๊ากห้องเช่าเอกชนสูง 3-5 หมื่นต่อเดือน ของภาครัฐ-มูลนิธิ 1-2 หมื่นบาท ชี้ที่อยู่ยังขาดแคลน จี้รัฐหาทางดูแลเพิ่ม
รายงานข่าวจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ทั่วประเทศ ปี 67 พบว่าการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้สูงอายุในปัจจุบันยังคงเติบโตช้า และไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สูงอายุในปัจจุบัน ซึ่งในปี 67 ไทยมีโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่เปิดบริการรวม 916 โครงการ แบ่งเป็น เนอร์ซิง โฮม 832 โครงการ และ เรซิเดนซ์ 84 โครงการ โดยส่วนใหญ่โครงการดังกล่าวกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีจำนวนรวมกันถึง 516 โครงการ
“สวนทางกับความต้องการ ที่ขณะนี้โครงสร้างประชากรในประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า จำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากปี 37 ที่มีผู้สูงอายุในไทยเพียง 6.8% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้น 20% ในปี 2567 โดยเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.89% ต่อปี ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”
สำหรับราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย จากการสำรวจพบว่า ราคาค่าเช่าที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในกลุ่มเนอร์ซิง โฮม ช่วงราคาเช่าของภาครัฐ ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ช่วงราคา 15,001-20,000 บาท ช่วงราคาเช่าของมูลนิธิที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ช่วงราคา 15,000 บาท และช่วงราคาเช่าของเอกชน ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ ช่วงราคา 15,000 บาท ขณะที่โครงการในกลุ่ม เรซิเดนซ์ ช่วงราคาเช่าของภาครัฐ ที่มีจำนวนมากที่สุด คือเท่ากับหรือต่ำกว่า 10,000 บาท ส่วนช่วงราคาเช่าของเอกชน ที่มีจำนวนมากที่สุด คือช่วงราคา 30,001-50,000 บาท
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย สะท้อนภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านความแตกต่างของระดับรายได้ และการพัฒนาเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด ทำให้การออกแบบกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบ้านพักผู้สูงอายุจำเป็นต้องคำนึงถึงบริบทและศักยภาพที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ รวมถึง การพัฒนากลไกทางการเงินที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จะช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาบ้านพักผู้สูงอายุในประเทศไทยสามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน
“ดังนั้นควรคำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ และความยั่งยืนทางการเงินของโครงการ เพื่อรองรับรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาสินเชื่อสำหรับที่พักอาศัยแบบเช่าระยะยาว หรือ การซื้อสิทธิการอยู่อาศัย ซึ่งอาจเหมาะสมกับผู้สูงอายุที่ต้องการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ช่วยสนับสนุนผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุให้ดีขึ้น”
ขณะที่อัตราการเข้าพักในเนอร์ซิง โฮม เฉลี่ย 70.91% โดยที่พักจะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนหน่วยสูงที่สุด และมีอัตราการเข้าพักสูงถึง 69.21% ขณะที่จังหวัดชลบุรี มีอัตราการเข้าพักสูงถึง 76.95% จังหวัดนครราชสีมาเข้าพัก 73.71% และเชียงใหม่อัตราการเข้าพัก 73.07% ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่มีความนิยมในหมู่ผู้สูงอายุชาวไทยและชาวต่างชาติ สำหรับอัตราการเข้าพัก Residence จากการสำรวจพบว่าจังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวนหน่วยสูงที่สุด มีอัตราการเข้าพักสูงถึงร้อยละ 70.91 ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 75.64 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยในพื้นที่เขตเมืองและศูนย์กลางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง