Close

เงินเฟ้อ เม.ย.68 ลดลง 0.22% ติดลบครั้งแรก รอบ 13 เดือน จากราคาพลังงานลดฮวบ

05-06 HaiPress

เงินเฟ้อ เม.ย. 68 ลดลง 0.22% ติดลบครั้งแรก รอบ 13 เดือน หลังราคาพลังงานลดฮวบ จับตาเดือนหน้าลดอีก ยันไม่เข้าภาวะเงินฝืด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือน เม.ย. 68 เท่ากับ 100.14 ลดลง 0.22% เมื่อเทียบกับ เม.ย. ปีที่แล้ว โดยเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หลังจากที่เคยติดลบติดต่อกันช่วงเดือน ต.ค. 66-มี.ค. 67 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า อีกทั้งยังมีมาตรการช่วยลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ตลอดจนการลดลงของอาหารสด เช่น ผักสดและไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่าปีก่อน แต่มีสินค้าบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเงินเฟ้อ 4 เดือนแรกของปี 68 (ม.ค.-เม.ย.) ยังเพิ่มขึ้น 0.75%

สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.22% มาจากการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.45% ได้แก่ สินค้ากลุ่มพลังงาน ของใช้ส่วนบุคคล เช่น แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งทาผิวกาย สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด เช่น ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาแพงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่าเช่าบ้าน และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี

ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.63% จากการสูงขึ้นของกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว กลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร เช่น น้ำมันพืช มะพร้าว กะทิสำเร็จรูป กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง กลุ่มผลไม้สด เช่น กล้วยน้ำว้า สับปะรด แตงโม มะพร้าวอ่อน และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล ส่วนสินค้าที่ลดลง อาทิ มะนาว ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักชี ผักกาดขาว พริกสด ไข่ไก่ ส้มเขียวหวาน และไก่ย่าง

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน เม.ย. 68 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.98% เร่งตัวขึ้นจากเดือน มี.ค. 68 ที่สูงขึ้น 0.86% และรวม 4 เดือน เพิ่มขึ้น 0.91% ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. 68 คาดอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือน เม.ย. 68 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมีสาเหตุจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคาขายปลีกแก๊สโซฮอล์ และเบนซินภายในประเทศปรับตัวลดลง เช่นเดียวกับที่ภาครัฐมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 68 ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ฐานราคาผักสดที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

“เดิม สนค. จะพิจารณาปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีใหม่ในวันนี้ แต่ขอดูตัวเลขเดือน พ.ค. 68 ที่จะประกาศในช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2568 ก่อน แล้วจะประกาศตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 68 ใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่ยืนยันว่ายังไม่เข้าภาวะเงินฝืด เพราะตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงขยายตัวได้ดีอยู่”

สำหรับปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นจาก 29.99 บาท เมื่อปีที่แล้ว มาเป็น 31.94 บาทต่อลิตรในปีนี้ และราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่เพิ่มขึ้น เช่น มะพร้าว มะขามเปียก กาแฟ เกลือป่น น้ำมันพืช และเนื้อสุกร เป็นต้น

คำปฏิเสธ: บทความนี้ทำซ้ำจากสื่ออื่น ๆ วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ซ้ำคือการถ่ายทอดข้อมูลเพิ่มเติมไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้เห็นด้วยกับมุมมองและรับผิดชอบต่อความถูกต้องและไม่รับผิดชอบใด ๆ ตามกฎหมาย แหล่งข้อมูลทั้งหมดในเว็บไซต์นี้ได้รับการรวบรวมบนอินเทอร์เน็ตจุดประสงค์ของการแบ่งปันคือเพื่อการเรียนรู้และการอ้างอิงของทุกคนเท่านั้นหากมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาโปรดส่งข้อความถึงเรา
©ลิขสิทธิ์2009-2020 ข่าวการเงินธุรกิจภาคใต้      ติดต่อเรา   SiteMap